”ดีควา”หรือ แตงชาย เพราะนอกจาก ”ดีควา” แล้ว ยังมี ”ดีหมึ” ซึ่งน่าจะแปลว่าแตงหญิง แถมยังมี ”ดีโหม่” ซึ่งโหม่ก็แปลว่าแม่ และด้วยความหลากหลายของพืชพันธุ์ โดยเฉพาะแตง จึงมีการตั้งชื่อที่แตกต่างกันไปตามสีสัน ไม่ว่าจะเป็น ดีหมึบอ ดีหมึวา ดีควาลา ดีโหม่ลา (บอ=สีเหลือง วา=สีขาว ลา=สีเขียว) และยังมีอีกสารพัดสารพันธุ์ชื่อแตงไม่น้อยกว่า 20 ชนิด ซึ่งแต่ละถิ่นที่ก็อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป
ดีควาเนื้อแน่น ๆ รสหวานอ่อน กินแล้วดับกระหายคลายร้อนได้อย่างดี
หลังฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้วนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นฤดูกินแตงของชาวปกาเก่อญอกันเลยทีเดียว ทั้งเอาใส่แกงข้าวเบ๊อะ ทำแกงแตง กินสดกับน้ำพริก หรือกินเล่น ๆ เป็นของหวานยามบ่ายในวันอากาศร้อน ๆ เอามาเลี้ยงกันตอนเอาไม้เอามือลงแขก . . . ที่มีแตงกินกันอุดมสมบูรณ์เช่นนี้เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่จะหยอดเมล็ดถั่ว ข้าวโพด ฟัก พริก รวมไปถึงแตง และอื่น ๆ ที่จะสามารถเก็บกินหรือใช้ประโยชน์ได้ไว้ในไร่ข้าวที่เป็นไร่หมุนเวียน พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว พืชผักบางอย่างก็จะให้ผลผลิตพอดี บางอย่างก็ทยอยออกลูกออกหน่วยตาม ๆ กันไป ฉะนั้นพออะไรออก เขาและแขกอย่างเรา ๆ ก็จะได้กินเมนูนั้นติด ๆ กันเป็นช่วง ๆ ไป เคยมีน้องชายคนหนึ่งพูดปลอบใจผมในวงข้าวที่เรากินแกงมันอะลู (มันฝรั่ง) ติด ๆ กันหลายมื้อในช่วงลงนาปลูกข้าวว่า
“ทนเอาหน่อยพี่ เดี๋ยวเกี่ยวข้าวเราก็จะได้กินแกงฟักทองกันแล้ว แต่ก็จะได้กินฟักทองเหมือน ๆ กันไปทุกนาที่ไปช่วยเกี่ยวข้าวเลยทีเดียว กินกันให้เบื่อไปข้างนึง เดี๋ยวเห็ดเดี๋ยวหน่อออก ก็ค่อยเปลี่ยนรสชาติกันอีกที”
นอกจากปลูกให้คนกิน เหลือให้หมูกิน บรรดาแม่ ๆ ก็จะกันแตงสุกส่วนหนึ่งไว้ ขอดเอาเม็ดตากแห้งให้ควันรมบนเตาไฟในครัวเก็บไว้ปลูกฤดูกาลหน้า ถ้าเมล็ดแห้งมีเยอะมากก็เอามาคั่วมาตำเป็นน้ำพริกสูตรพิเศษสุด ก็เป็นอีกเมนูที่เชฟกะทะเหล็กยังต้องคุกเข่าคารวะ (เพราะอาจจะไม่เคยกินมาก่อน)
เนื่องจากเมื่อก่อนขนมถุงก๊อบแก๊บยังไม่มี ของว๋งของหวานก็นาน ๆ ผูกข้อไม้ข้อมือถึงจะได้กินกันทีนึง แตงจึงเป็นของว่างอันโอชะของเด็ก ๆ และเป็นเครื่องมือในการสอนลูกของพ่อแม่ชาวปกาเกอญอที่อยู่อาศัยห่างไกลสื่อมัลติมีเดีย . . . Dej Pukan เคยเขียนเล่าเพื่อน ๆ ใน facebook ไว้ จับใจความได้ว่า
”บรรพบุรุษปกาเก่อญอใช้แตงชนิดหวานเป็นเครื่องมือในการทำให้เด็ก ๆ ลูกหลาน และพี่น้องในครอบครัวรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีกัน เพราะถ้าทะเลาะเบาะแว้งไม่รักและสามัคคีกัน พ่อแม่จะไม่ปลูกแตงหวานให้กิน ก็ด้วยแตงหวานมีรสชาดอร่อยและหวานกว่าแตงชนิดอื่น เป็นที่ถูกอกถูกใจของเด็ก ๆ . . . ลูก ๆ กลัวว่าพ่อแม่จะไม่ปลูกแตงหวานให้กิน ก็เลยทำตัวน่ารัก ว่านอนสอนง่าย รักและสามัคคีกัน”
แทบไม่น่าเชื่อว่าแตงที่ปลูกไว้ในไร่หมุนเวียน นอกจากจะใช้กินประทังชีวิต เป็นความพอเพียงอย่างเห็นรูปธรรมในครอบครัวในวิถีชีวิตแล้ว ปราชญ์เดินดินยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือสอนกล้าอ่อนของตัวเองได้อย่างมีจังหวะจะโคน
เป็นความธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา ทั้งขนาด และคุณค่าของแตงปกาเก่อญอ
ขอขอบคุณพาเส่ สมภพ ยี่จอหอ เรียบเรียงคำให้ไพเราะเพราะพริ้งครับ