คำตักเตือนจากบรรพชน……โดยบือพอ
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนได้กล่าวเตือนไว้เป็นบทสอน
“ผีดิบเป่าแตรเสียงดังมาแต่ไกล
หากเป่าตามจะหลงกลมัน
ผีดิบผีร้ายใจไม่ซื่อ
ไล่ล่ากินเรามาแต่บรรพชน
แม้มาถึงยุคนี้ก็ไล่กินเราอยู่
ผีดิบผีร้ายใจไม่ซื่อ
ลวงเราไปเป็นขี้ทาส นานา ประการ
ผีดิบผีร้ายตีกลองเสียงดังจากไหล่ผา
ด้วยหวังลวงให้ลูกหลานเราเดินไปหา
ผีดิบผีร้ายทัดดอกไม้สีขาว
ด้วยหวังยั่วยวนจิตใจลูกหลานเรา
พี่น้องเอ๋ย! ร่วมจิตร่วมใจกันเถิด
ร่วมต่อต้านผีดิบไล่ล่ากินเรา
รีบๆ ลับดาบลับหอกให้คมเสีย
ยกคมดาบคมหอกขวางทางพวกมันแล”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งจะมีคนมาเรียกเราว่าพี่
จะมีผู้คนมาเรียกเราว่าน้อง
เรียกพี่ก็อย่าขานรับ
เรียกน้องก็อย่าขานตอบ
หากตอบรับจะนำเราสู่ความหายนะ
ด้วยว่าเป็นเพียงกลวิธีหลอกเราให้ตายใจ
ด้วยว่าเป็นเพียงวาจาหว่านล้อมให้ระรื่นหู
ด้วยว่าเป็นเพียงไส้สนกลในที่ไว้ใจไม่ได้
คำพูดเขาอย่างหนึ่ง
จิตใจเขากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ใช่ว่าเขาจะมาเกี้ยวพาราสีเราด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เขามาหลอกเอาหมากเอาพลูเราไปกินเท่านั้นเอง”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งแผ่นดินจะพลิกผัน
แผ่นดินจะชำระตัวมันเอง
น้ำจะท่วมทั้งผืนแผ่นดิน
อีกไม่นานนักแผ่นดินจะร้อนระอุ
ผืนปฐพีจะลุกเป็นไฟ
ไม่มีสิ่งใดมีชีวิตอีกต่อไป
เหลือเพียงผีปอบเท่านั้น”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งฟ้าจะปิดแผ่นดินจะมืด
ฝนจะตกหนัก ฟ้าจะร้องเสียงดังระทึก
ลมจะพัดอย่างรุนแรง
พายุจะโหมกระหน่ำอย่างสุดเหวี่ยง
ไม่มีสิ่งใดต้านทาน ไม่มีสิ่งใดขวางกั้น
ผู้คนจะปลิวว่อนไปกับสายลม
จับอะไรก็ไม่อยู่ ยึดสิ่งใดก็ไม่มั่น
เว้นแต่ “ตอข้าว” และ “ธูป” เท่านั้น”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งแมงมุมจะชักใยทั่วขุนเขา
แม่น้ำลำธารจะไหลย้อนกลับ
ผู้คนทั่วแผ่นดินจะขาดแคลนน้ำ
แม่น้ำที่เคยไหลเอ่อนองจะแห้งขอด
แม้แต่มดคันไฟก็สามารถข้ามไปได้”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งงูยักษ์จะเลื้อยเข้าไปในหมู่บ้าน
มีขาแต่ผู้คนไม่ย่างก้าว
มีทางแต่ผู้คนไม่เดิน
ด้วยว่างูยักษ์จะกลืนเข้าไปหมดสิ้น”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งม้าจะมีเขาขึ้น
ผู้คนจะขี่ม้าเพ่นพ่านทั่วหมู่บ้าน
จงทำจิตใจให้มั่นคงเข้าไว้
ไม่เช่นนั้นแล้วลูกหลานจะตายเสียสิ้น”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งผู้คนจะไม่มีสัตว์เลี้ยงอีกต่อไป
ช้างที่เลี้ยงไว้ลากซุงก็จะสูญพันธุ์
วัว ควายที่เลี้ยงไว้ไถนาก็จะมลาย
ช้างหัวกลมก็จะหมดยุคไป
ช้างหัวแบนจะเข้ามาแทนที่
วัว ควายใจเนื้อก็จะสิ้นสมัย
วัว ควายใจเหล็กจะย่างกรายเข้ามา”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งฟ้าจะปิดในเดือนหก (มีนาคม)
ฝนจะตกชุกในเดือนเจ็ด (เมษายน)
จะมีทากมากมายไล่กัดกินผู้คน
ฟ้าจะเปิดในเดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม)
แดดจะร้อนจัดจ้านในเดือนสิบสอง (กันยายน)
ไฟจะลุกไหม้ทั่วป่าเขาลำเนาไพร”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์กันดารอาหาร
ข้าวจะยาก หมากจะแพง
กันดารเจ็ดปี ขาดแคลนเจ็ดปี
กันดารเจ็ดปีผู้คนยังไม่เสียชีวิต
แต่เมื่อคราว ขาดแคลนเจ็ดปีมาถึง
ผู้คนจะเสียชีวิตเสียสิ้น
เมื่อถึงเวลานั้นแม้ถางไร่กว้างเท่าใดก็ไม่ได้ผล
ผู้คนสามสิบคนจะมีห่อข้าวเพียงห่อเดียว
พวกเขาจะแย่งกันกินจนหัวทิ่มใส่กัน
พวกเขาจะสะบัดใบห่อข้าวด้วยความหิวโหย
พวกเขาจะคิดถึงและโหยหาเรียกหาข้าว
พวกเขาจะเร่ร่อนพเนจรตามป่าเขาลำเนาไพร
ประทังชีวิต ด้วยลูกไม้และหยวกกล้วยป่า
บุตรหลานจะทยอยเสียชีวิต ไปทีละคนสองคน
พวกเขาไม่มีแรงฝังศพบุตรหลาน
จึงวางไว้ตามง่ามกิ่งไผ่กิ่งไม้
และที่สุดพวกเขาจะเสียชีวิตตามทั้งสิ้น”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนกล่าวลำนำเป็นสัญญาณเตือนภัย
“เชอ กู กรู กู! เงินเต็มกระชุ ข้าวไม่เต็มกระชุ
ถึงวาระหนึ่งข้าวจะมีเหลืออยู่น้อยนิด
ผืนแผ่นดินจะเต็มไปด้วยเงิน
ค่าเงินจะถูกลง ค่าข้าวจะแพงขึ้น
เงินตั้งกระชุ แต่จะซื้อข้าวได้ไม่เต็มกระชุ
เมื่อถึงเวลานั้นนกเขาจะเรียกหาข้าว
เพราะพวกมันไม่มีข้าวเหลืออยู่ในไร่อีก
ส่วนผู้คนก็จะอุทานด้วยความรู้สึกเดียวกัน
ข้าวเอ๋ย! อย่าได้หกเสียเลย
ยามขาดแคลนฉันโหยหาถึงเจ้า”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนได้เล่านิทานเตือนเราไว้
“สมัยหนึ่งเงินเถียงข้าวว่าไม่มีข้าวตนก็อยู่ได้
ข้าวได้หนีจากมันไปซ่อนอยู่ในถ้ำ
ภายหลังบุตรของเงินร้องไห้
มันให้เงินกับบุตร ด้วยหวังให้บุตรหยุดร้อง
ทว่าบุตรของมันยิ่งร้องมากกว่าเดิม
มันเหลือบไปเห็นเศษข้าวที่ก้นหม้อ
เมื่อลองนำมาให้บุตรกิน
บุตรก็หยุดร้องแต่โดยดี
มันได้รู้ว่าข้าวเท่านั้นที่ทำให้บุตรของตนหยุดร้อง
จึงวานให้นกกระติ๊ดไปเอาข้าวจากถ้ำกลับคืนมา
เมื่อได้ข้าวคืนมา
ชีวิตเงินก็กลับมามีปกติสุข”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนท่านกล่าวเป็นคำสุภาษิตไว้
“เงินของเขา ทองของผู้อื่น
เงินทาบตา ทองทาบใจ
เงินเต็มถุงอยู่ไม่สุข ทองเต็มถังนอนไม่หลับ
เงินล่ากินร่าง ทองล่ากินแรง
เงินบาดเราเจ็บ ทองบาดเราตาย
เหล็กงอเขาดัดด้วยไฟ คำพูดงอเขาดัดด้วยเงิน”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนท่านได้ทำนายเอาไว้
“ถึงวาระหนึ่งผู้คนจะเล่นชู้
สมสู่กันโดยไม่มีวัฒนธรรม
หญิงตั้งสิบจะมีสามีเพียงหนึ่งเดียว
ชายเพียงสิบมีภรรยาตั้งเป็นร้อย
สามีจะรักปิดบังภรรยา ภรรยาจะรักปิดบังสามี
ส่วนบนเป็นญาติกัน ส่วนล่างเป็นสามีภรรยา
ถ้านับญาติเป็นน้าหลาน
แต่เอาเข้าน้าสามี หลานภรรยา
ผู้คนจะแต่งงานกันซับซ้อนกันถึงเจ็ดชั้น
จนวิญญาณบรรพบุรุษแยกแยะไม่ได้แล้ว”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ผืนแผ่นดินยุคนี้เต็มไปด้วยความผิดร้าย
ความชั่วช้าไหลมาดั่งน้ำไม่ยอมหยุด
ความเลวทรามหมุนมาดั่งล้อดั่งเกวียน
ความชั่วบินมาด้วยปีก ความดีค่อยๆ คลานเข้ามา
จงอบรมสั่งสอนบุตรหลานอย่างเข้มงวด
เลี้ยงบุตรหญิงอย่าปิดโยนีเอาไว้
เลี้ยงบุตรชายอย่ากำองคชาตเอาไว้
เลี้ยงบุตรหญิงกลายเป็นศัตรูอยู่บ่อยๆ
เลี้ยงบุตรชายกลายเป็นไส้ศึกอยู่เนืองๆ
เป็นสามีให้เป็นซื่อ เป็นภรรยาให้เป็นซื่อ
สามีก็อย่ารักปิดบังภรรยา
ภรรยาก็อย่ารักปิดบังสามี”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนได้เล่านิทานเตือนเราไว้
“มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีบุตรสาวหนึ่งคน
ภรรยาเสียชีวิต สามีไปมีคู่ใหม่
คู่ใหม่ชื่อ “มือกอลี” (นางปีศาจ)
เธอเกลียดบุตรสาวสามี
เธอรบเร้าให้สามีไปลวงฆ่าบุตรสาวทุกเมื่อเชื่อวัน
สามีทนไม่ไหวจึงไปลวงฆ่าบุตรในไส้ของตน
แต่ภายหลังเขาได้รู้ว่าบุตรสาวยังมีชีวิตอยู่
เพราะนางฟ้าลงมาช่วยให้กลับมามีชีวิตใหม่
เขาเกิดสำนึกผิดและละอายใจตนเอง
จึงตัดสินใจแขวนคอตาย
บุตรสาวเสียใจมากและแขวนคอตายตามพ่อ”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนท่านกล่าวไว้เป็นบทสอน
“เกิดเป็นหญิงต้องอ้าโยนีเอาไว้
เกิดเป็นชายต้องลอกองคชาตเอาไว้
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเหย้าเรือน
เกิดเป็นหญิงมีเต้านมเต็มหน้าอก
เกิดเป็นชายมีอัณฑะเต็มหว่างขา
ตราบใดที่ขายังไม่หัก
ตราบใดที่ตายังไม่บอด
ผู้อื่นทำได้ เราก็ทำได้
อย่าอาศัยจมูกผู้อื่นหายใจ
อย่าอาศัยหูผู้อื่นฟังเลย”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนท่านกล่าวไว้เป็นบทสอน
“สินค้าถูกอยู่ที่เชิงบันได (อยู่ใกล้เรา)
ปลาใหญ่ๆ มักอยู่ขุนห้วย
กาออกบินแต่เช้าตรู่ไปหากินแต่ไกลลิบ
ไก่ตื่นควรแก่เวลาหากินรอบๆ ครกกระเดื่อง
ตกเย็นกากลับมาบอกไก่ว่า
“ข้ากินอิ่มเต็มเหนียงแล้ว”
ไก่ตอบว่า “ข้าก็กินอิ่มเต็มเหนียงลูกหนึ่งเช่นเดียวกัน”
ฟ้านี้ แผ่นดินนี้อยู่ที่ไหนก็กินข้าวหนึ่งคำกันทั้งนั้น
อย่าเสียเวลาไปหากินที่ไหนไกลๆ เลย”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
บรรพชนท่านขับลำนำสอนเราไว้
“แผ่นดินเขา จงอย่ายกย่อง
บ้านเมืองเขา จงอย่าสรรเสริญ
แผ่นดินเขาดี เขาต้องซื้อเอา
บ้านเมืองเขาดี เขาต้องซื้อเอา
จงร่วมกันฟื้นฟูแผ่นดินของเราเถิด
เขามีข้าวกิน เราก็มีข้าวกิน”
“แม่อยู่กับเรานี่แหละดี
พ่ออยู่กับเรานี่แหละดี
แม่รักษาปลอกมีดให้เราไว้
พ่อรักษาปลอกขวานให้เราไว้
หากเราไม่เดินตามรอยพวกท่าน
ชื่อพวกท่านก็จะสูญสลายไป”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
“ถึงวาระหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์พลิกผันตาลปัตร
จงเฝ้าระวังตัวให้ดีและตั้งตนให้มั่นเข้าไว้
แม่ไก่จะเกี้ยวพ่อไก่ให้ออกไข่
หนูจะไล่กัดกินแมว
ข้าวสาลีจะโฉบกินอีกา
ควายจะไล่ต้อนเสือ
ยอดอ่อนต้นพริกจะเล็มกินกวาง
แผ่นดินจะวิ่งเข้ารูหนู
จอมปลวกจะหักโค่นหมี
ไฟจะอังตัวเองด้วยข้าวโพด
ตะขาบจะไล่ฟาดท่อนไม้
น้ำเต้าจะจมก้อนหินจะลอย
ไส้เดือนจะช่วยกันลากมดดำ
ขโมยจะไล่จับตำรวจ
ชะนีจะลงไปหลบตัวอยู่ในน้ำ
ตะพาบน้ำขึ้นไปหลบตัวอยู่บนต้นไม้
ผลต้นไทรจะมากินนกเงือก
เม็ดข้าวเปลือกจะไล่จิกกินไก่
เมื่อถั่วงอกเขาจะปล่อยทิ้งไว้
เมื่อมะเขืองอกเขาจะปลูกร้านให้”
ลูกหลานเอ๋ย ! จงฟังให้ดีๆ นะ
วิญญาณบรรพชนมองดูพวกเราด้วยความเป็นห่วง
ด้วยว่าขวัญของพวกเราหายไปนานแสนนาน
ด้วยว่าร่างของพวกเราหลงทางไปไกลแสนไกล
วันนี้พวกท่านจะทำพิธีเรียกขวัญพวกเราให้กลับคืนมา
จงฟังคำภาวนาของพวกท่านให้ดีๆ
จงใคร่ครวญให้จงหนัก
จงไตร่ตรองให้รอบคอบ
จงกลับตัวกลับใจกลับมาหาพวกท่านเถิด !
“ปรือ! ขวัญบุตรหญิงเอ๋ยกลับมาเถิด
ปรือ! ขวัญบุตรชายเอ๋ยกลับมาเถิด
อย่าหลงอยู่กับยักษ์ อย่าหลงอยู่กับเจ้ามาร
อย่าหลงอยู่กับลมหนาว อย่าหลงอยู่กับลมร้อน
อย่าหลงอยู่กับลมพิษ
อย่าหลงอยู่กับอากาศเป็นภัย
อย่าหลงขึ้นไปอยู่บนฟ้า
อย่าหลงลงไปอยู่ใต้ดิน
อย่าเดินทางไปที่อื่น อย่าค้างคืน ณ แห่งใด
พ่อเรียกให้กลับมา แม่เรียกให้กลับมา
ทำพิธีเลี้ยงด้วยนก ทำพิธีเลี้ยงด้วยไก่
กลับมากินเนื้อนก กลับมากินเนื้อไก่
กลับมากินข้าวต้ม กลับมากินข้าวดำ
กลับมากินหัวเหล้า กลับมากินหัวข้าว
กลับมากินลาบ กลับมากินแกง
กลับมากินข้าวนวล กลับมาดื่มน้ำใส
กลับมาอยู่กับพ่อ กลับมาอยู่กับแม่
กลับมาอยู่กับพี่ กลับมาอยู่กับน้อง
กลับมาอยู่กับเหย้า กลับมาอยู่กับเรือน
กลับมาสร้างขวัญให้เข้มแข็ง
กลับมาเสริมใจให้มั่นคง
เพียงเส้นด้ายอย่าให้เขาดึงขาด
เพียงเข็มอย่าให้เขาเหยียบงอ
เขาหลอกอย่าได้เชื่อ
เขาทอดสะพานอย่าได้ข้าม
ปรือ! ขวัญบุตรหญิงเอ๋ยกลับมาเถิด
ปรือ! ขวัญบุตรชายเอ๋ยกลับมาเถิด”